Loading...

เริ่มต้นลงทุนตราสารหนี้

ขั้นตอนการซื้อขาย พันธบัตร / หุ้นกู้

ตลาดรองตราสารหนี้ไทย
การซื้อขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ของไทยจะทำผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ โดยไม่มีตลาดกลาง ต่างจากการซื้อขายหุ้นสามัญที่มักเกิดขึ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นสถานที่กลางให้นักลงทุนได้ทำการซื้อขายเปลี่ยนมือกันโดยกำหนดเวลาเปิดปิดตลาดไว้
การซื้อขายตราสารหนี้ของไทยนอกจากจะทำผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตแล้ว (Over the counter) นักลงทุนยังสามารถทำการต่อรองราคาและตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างกันได้โดยจะทำการตกลงกันด้วยอัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุ (Yield to Maturity: YTM)เช่น LB233Aมี YTM2.323%และ LB236A มี YTM 2.365% เป็นต้น
นักลงทุนสามารถสอบถามราคาเสนอซื้อเสนอขายจาก Dealer ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กลต. โดย Yield เสนอซื้อ/เสนอขายจะต่างกันเล็กน้อยเรียกว่า Spread ซึ่งอยู่ในหน่วยbp (Basis Point, 1bp= 0.01%) ทั้งนี้spread จะขึ้นกับปริมาณการซื้อขายด้วย หากซื้อขายในปริมาณที่มาก spread จะลดลง นอกจากนั้น spread จะเป็นตัวสะท้อนสภาพคล่องของตราสารหนี้ตัวนั้นๆอีกด้วยหาก spread ต่ำแสดงว่าสภาพคล่องสูง ซื้อขายง่าย หากspread สูงแสดงว่าสภาพคล่องต่ำการซื้อขายจะทำได้ยาก
สำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ของรัฐบาล ก่อนตัดสินใจซื้อขาย นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลวันทำการก่อนหน้าโดยอ้างอิงอายุคงเหลือของตราสารที่ต้องการซื้อขายก่อนได้ ในกรณีของตราสารหนี้เอกชน สามารถใช้ Credit spread มาบวกเพิ่มจากYield พันธบัตรรัฐบาลเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้แต่ทั้งนี้เนื่องจากตราสารหนี้เอกชนมีสภาพคล่องต่ำกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ ราคาที่ซื้อขายอาจแตกต่างจากราคาอ้างอิงได้มาก
หลังจากการซื้อขาย Dealer ทุกรายจะรายงานข้อมูลซื้อขายมายังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเพื่อรวบรวมและกำกับดูแลการซื้อขาย โดยทางสมาคมจะทำการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญเช่น ปริมาณการซื้อขาย อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ปริมาณเงินเข้าออกต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ราคาและผลตอบแทนที่ทางสมาคมฯ ประกาศ บริษัทจัดการกองทุน และธนาคารจะนำไปใช้ในการกำหนดมูลค่ายุติธรรมในการลงบัญชีในแต่ละวัน

การลงทุนในตราสารหนี้

การลงทุนในตราสารหนี้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ใน 3 ทางได้แก่ 1) ลงทุนในตลาดแรก (เป็นการซื้อตราสารหนี้ออกใหม่) 2) ลงทุนในตลาดรอง (ซื้อตราสารหนี้ต่อจากนักลงทุนอื่น) 3) ลงทุนทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างๆ)
1. การลงทุนในตลาดแรก
การลงทุนในตลาดแรกจะมีความแตกต่างกันระหว่างการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน ในเรื่องการจัดจำหน่ายและเงื่อนไขในการลงทุน ดังนี้
1.1 ตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐจะมีการจำหน่าย 2 วิธีคือ ผ่านการประมูล และการจำหน่ายผ่านผู้จัดการจำหน่าย นักลงทุนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลตราสารหนี้ภาครัฐบาล จะมีเฉพาะนักลงทุนสถาบันตามที่กำหนดเท่านั้นที่สามารถเข้าประมูลได้ ส่วนการจำหน่ายผ่านผู้จัดการจำหน่ายจะได้แก่
  • พันธบัตรออมทรัพย์ ที่เน้นเสนอขายให้กับนักลงทุนบุคคลทั่วไปโดยตรงผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในช่องทางต่างๆ ได้แก่ เคาน์เตอร์สาขาธนาคาร Internet banking Mobile banking รวมถึงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนู “วอลเล็ต สบม.”
  • พันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่ง (รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะใช้ระบบประมูล) เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เป็นต้น
พันธบัตรออมทรัพย์ปัจจุบันเป็นระบบไร้ใบหุ้นกู้ (Scripless) แต่จะมีสมุดพันธบัตรฯ (Bond Book)ในวันที่ซื้อหรืออาจได้รับภายหลังไม่เกิน 15 วันจากธนาคารตัวแทนจำหน่าย หากมีสมุดพันธบัตรฯอยู่แล้วสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ใน 15 วัน หากนักลงทุนต้องการถอนพันธบัตรออกจากระบบScriplessก็สามารถทำได้โดยขอออกใบพันธบัตรแต่ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
1.2 ตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตราสารหนี้ภาคเอกชนสามารถเสนอขายได้ 2กรณี
  • การเสนอขายนักลงทุนทั่วไป (Public Offering) ซึ่งตราสารที่ขายในรูปแบบนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ออกต้องมีการจัดอันดับเครดิต และต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยรวมถึงกฏเกณฑ์อื่นๆ เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการประเมินความเสี่ยง
  • การเสนอขายในวงจำกัด (Private Placement) เป็นการเสนอขายแก่นักลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ การเสนอขายแก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย (PP10) การเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) และการเสนอขายแก่นักลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investor or High Net Worth Investor) ทั้งนี้ การเสนอขายในวงจำกัดไม่จำเป็นต้องจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ และนักลงทุนทั่วไปจะไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ตัวนั้นๆ ได้
  • ผู้ลงทุนสามารถติดต่อและแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน หรือจองซื้อผ่าน Mobile Banking ของสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้นั้นๆ ภายในช่วงเปิดจองซื้อ หรือจองซื้อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังสำหรับหุ้นกู้ที่เสนอขายในรูปแบบหุ้นกู้ดิจิทัล
2. การลงทุนในตลาดรอง
การซื้อขายในตลาดรองของตราสารหนี้จะเป็นแบบ OTC (Over The Counter) ซึ่งไม่มีศูนย์กลางการซื้อขายและสามารถต่อรองราคาได้ นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ที่ต้องการได้หลังจากที่ได้มีการเสนอขายในตลาดแรกแล้ว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนักลงทุนอาจซื้อขายในราคาที่ต่างจากราคาหน้าตั๋ว ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ออกตราสาร รวมถึงตราสารหนี้บางตัวมีสภาพคล่องต่ำทำให้ราคารับซื้อกับราคาเสนอขายจะต่างกันมาก
โดยทั่วไปแล้วตราสารหนี้ภาครัฐจะมีสภาพคล่องสูงกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่า Investment grade หรือไม่มีการจัดอันดับเครดิตจะมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างต่ำ นักลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องก่อนการลงทุนเสมอ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขายตราสารในเวลาที่ต้องการหรือขายได้ในราคาที่ต่ำ
สำหรับการซื้อขายในตลาดรอง นักลงทุนสามารถสอบถามสถาบันการเงินที่คุ้นเคยซึ่งส่วนใหญ่จะมีสถานะเป็น dealer หรือสามารถตรวจสอบรายชื่อ Dealer ได้ที่เว็บไซต์ ThaiBMA
3. การลงทุนผ่านกองทุนรวม
กองทุนรวมถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนรายย่อยเนื่องจากสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากกว่าแม้ว่าจะลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก และสามารถเลือกเงื่อนไขในการขายคืนหรือจะถือจนครบกำหนดอายุได้ ทำให้สะดวกต่อการบริหารเงิน หากลงทุนในกองทุนเปิดจะได้รับความสะดวกในเรื่องสภาพคล่อง
ในปัจจุบันมีกองทุนหลายประเภทที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งความเสี่ยงของแต่ละกองจะขึ้นกับประเภทของตราสารที่ลงทุน ทั้งนี้นักลงทุนควรทำความเข้าใจความเสี่ยงด้านต่างๆและโอกาสขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนเลือกลงทุน เช่นการลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลจะไม่ขาดทุนจากการผิดนัดชำระแน่นอน แต่อาจขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ หรือการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าแต่ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนจากการผิดนัดชำระสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในระดับInvestment Grade เป็นต้น

ภาษีกับการลงทุนตราสารหนี้

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้กับหุ้นสามัญสำหรับบุคคลธรรมดา คือ การเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างราคา ซึ่งจะถูกเก็บจากการลงทุนในตราสารหนี้ในขณะที่การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะไม่เสียภาษีกำไรจากส่วนต่างราคา ดังนั้นก่อนลงทุนนักลงทุนควรศึกษารายละเอียดการคำนวนภาษีก่อนการลงทุน สามารถดูรายละเอียดได้ ที่นี่